Tuesday, June 21, 2016

ก่อนที่จะก้าวไปสู่โลกแห่งการทำงานจริง เป็นโอกาสที่ดีที่นักศึกษาจะได้ลงมือปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจมากขึ้นจากการที่ได้เรียนในภาคทฤษฎี

การฝึกงานนั้น ถือเป็นการเข้าถึงแหล่งความรู้ทางตรงที่ดีเยี่ยม



ก่อนที่จะก้าวไปสู่โลกแห่งการทำงานจริง เป็นโอกาสที่ดีที่นักศึกษาจะได้ลงมือปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจมากขึ้นจากการที่ได้เรียนในภาคทฤษฎีจากอาจารย์มาแล้ว การจะทำให้ประสบการณ์จากการฝึกงานนั้นมีค่าน่าจดจำ เป็นเรื่องไม่ยากหากคุณได้ศึกษาจากประสบการณ์ของผู้อื่น และเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี บทความนี้เป็นแหล่งความรู้หนึ่งซึ่งได้รวบรวม



เกร็ดความรู้และเทคนิคต่างๆ ที่ใช้ในการเผชิญกับปัญหายอดฮิตที่ผู้ฝึกงานส่วนใหญ่ต้องพบเจอ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้คุณสามารถประสบความสำเร็จ และได้รับประสบการณ์ที่มีค่าจากการฝึกงานไปได้อย่างเต็มที่ 1.พี่เลี้ยงไม่สอนงาน นักศึกษาฝึกงานส่วนหนึ่งเมื่อได้รับมอบหมายงาน แต่พี่เลี้ยงไม่มีเวลาสอนงานให้ เนื่องจากภาระงานของเขามาก ทำให้รู้สึกเกร็งทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน ยิ่งถ้าเป็นงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะที่ไม่มีในคู่มือ หรือระบุไว้เป็นขั้นตอนการปฏิบัติงานชัดเจน



เมื่อได้รับมอบหมายงานมา ก็จะเหมือนเป็นการเพิ่มความกดดันให้กับตัวนักศึกษาค่อนข้างมาก Tips :โดยหลักการแล้วเมื่อเกิดปัญหาติดขัดเกี่ยวกับเรื่องงาน ต้องสอบถามผู้ที่มอบหมายงานมาทันที เนื่องจากว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงจากผลงานที่นักศึกษาฝึกงานทำ หรือไม่คุณก็อาจมองหาคนอื่นๆในที่ทำงานที่มีศักยภาพ ขอความช่วยเหลือและคำปรึกษาต่างๆจากเขา มองโลกในแง่ดีว่า นี่เป็นโอกาสหนึ่งที่เราจะได้รู้จักการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด




1.หลายอย่างที่เราสามารถเรียนรู้ได้เอง ไม่ต้องรอผู้อื่น บางอย่างอาจใช้วิชาครูพักลักจำ ฝึกเป็นคนช่างสังเกต ทดลองค้นคว้า วิธีการใหม่ๆ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งว่า สิ่งที่คุณร่ำเรียนมานั้นใช้การได้จริงแค่ไหน แท้จริงแล้วมีหลายองค์กรที่ไม่ได้ต้องการคนที่ทำตามใจเขาทั้งหมดหากเราไม่แสดงให้เขาเห็นว่ามีความเชื่อมั่นและศรัทธาในคุณค่าของตัวเองแล้วจะให้เขาเชื่อได้อย่างไรว่าเราจะสามารถพาองค์กรของเขาก้าวไปข้างหน้าได้



อย่าลืมว่าผู้ที่ควบคุมงานนักศึกษามีหน้าที่ประเมินผลการทำงานของคุณอยู่ตลอดเวลาด้วย



2.ไม่ได้รับมอบหมายงานที่เหมาะสม เป็นความจริงที่ว่าหลายๆองค์กรเปิดรับนักศึกษาฝึกงานจำนวนมาก แต่เมื่อนักศึกษาเข้าไปแล้ว กลับไม่ได้มอบหมายงานที่เป็นชิ้นเป็นอัน งานส่วนใหญ่กลายเป็นงานเบ็ดเตล็ด งานเล็กๆน้อย เช่น งานส่งเอกสาร จัดเอกสาร พิมพ์งาน ถ่ายเอกสาร ประสานงาน เป็นต้น



Tips :คุณต้องฝึกเป็นคนช่างสังเกต ว่าในแผนกที่คุณไปฝึกงานนั้น



พนักงานส่วนใหญ่ต้องทำหน้าที่อะไรบ้างในแต่ละวัน ในช่วงนั้นมีภาระกิจหรือโครงการพิเศษอะไรบ้าง เริ่มจากการสอบถามพี่เลี้ยง เพื่อนร่วมงาน หมั่นแสดงออกซึ่งความเต็มใจที่จะช่วยเหลืองานต่างๆ เริ่มจากงานชิ้นเล็กๆ ไปจนถึงงานที่ต้องใช้ทักษะ หรือความรู้ในระดับที่สูงๆ ขึ้นไป อีกทั้งควรฝึกการมองผู้อื่นอย่างเข้าใจ เนื่องจากหากคุณมีงานสำคัญที่ต้องรับผิดชอบ ก็มีความเสี่ยงหากให้งานนั้นกับเด็กฝึกงาน ที่อาจทำให้เกิดความผิดพลาด และจะเกิดผลเสียหายตามมาได้



ดังนั้น จึงควรเผื่อใจไว้ หากคุณเสนอตัวช่วยงานแล้วได้รับการปฏิเสธกลับมา อีกทางเลือกหนึ่ง คือนักศึกษาฝึกงานบางคน อาจใช้วิธีแก้ปัญหานี้โดยการขอโอกาส เสนอที่จะทำงาน หรือทำโครงการที่เราคิดว่าเข้ากับงานของหน่วยงานหรือองค์กรนั้นๆได้และเป็นประโยชน์ต่อการฝึกงานของตัวเอง คือได้ใช้ความรู้ความสามารถที่เรียนมาทำประโยชน์ให้หน่วยงานที่เราไปฝึกเช่น เสนอระบบงานที่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในหน่วยงานนั้น หรืออาจทำชิ้นงานไว้ให้หน่วยงานใช้ประโยชน์ หรือจัดทำฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการทำงานของหน่วยงาน หรือเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าขององค์กรนั้น เป็นต้น




 3.ได้รับมอบหมายงานมากเกินกำลัง ประเด็นนี้เป็นปัญหาที่ตรงกันข้ามกับปัญหาในข้อสองโดยสิ้นเชิงอาจเกิดจากองค์กรมองว่านักศึกษาฝึกงานบางคน มีศักยภาพสูง หรือปริมาณงานของหน่วยงานในขณะนั้นมีมาก ก็อาจทำให้หัวหน้างานต้องจัดแบ่งมาให้นักศึกษาร่วมรับผิดชอบ หรือในกรณีที่คุณมีภารกิจงานหลักที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่อาจถูกร้องขอให้ช่วยงานพี่ๆ หรือเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆเพิ่มเติม ทำให้ปริมาณงานมากจนล้นมือ 



Tips :ให้มองว่าเป็นโอกาสดีที่คุณจะได้แสดงความสามารถ ในที่นี้ขอแนะนำว่าให้คุณหลีกเลี่ยงการปฏิเสธงาน เพราะถ้าทำเช่นนั้นคุณจะถูกมองในแง่ลบมากกว่าแง่บวกทันที ควรใช้การจดบันทึกทุกครั้งเมื่อได้รับมอบหมายงาน ในกรณีที่มีงานหลายๆอย่างเข้ามาพร้อมกัน ให้บริหารจัดการให้ดี จัดทำแผนงาน แจกแจงหัวข้องานให้ชัดเจน อาจจัดทำในรูปแบบตาราง ระบุระยะเวลาของการดำเนินงานในแต่ละชิ้นงานแต่ละขั้นตอนให้ละเอียด ประมาณการเวลาที่งานจะแล้วเสร็จแล้ว



พยายามทำให้ได้ตามแผน และรายงานผู้ควบคุมงานอยู่เป็นระยะ กรณีมีปัญหาติดขัด ต้องรีบรายงานผู้ที่มอบหมายงานให้ทันที เพื่อขอคำแนะนำ การจัดทำแผนงานที่ระบุรายละเอียดของขั้นตอนงานนี้ จะมีส่วนช่วยคุณอย่างมากในการจะทำให้ผู้ที่มอบหมายงานมองเห็นภาพรวมของปริมาณงานของคุณ เปรียบเทียบกับเวลา และจำนวนคนทำงานซึ่งเมื่อเขาพบความผิดปรกติของปริมาณงานที่คุณได้รับ ก็จะได้ตัดสินใจปรับเปลี่ยนได้ทันท่วงที และคุณสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองเรื่องระยะเวลาแล้วเสร็จ หรือขอให้มีเพื่อนร่วมทีมที่จะมาแบ่งเบาภาระไปได้มากขึ้น

ซึ่งหากจัดสรรได้เช่นนี้จะทำให้คุณดูมีความเป็นมืออาชีพอย่างมากในการทำงาน



4.ถูกข่มเหงเอาเปรียบจากเพื่อนร่วมงาน ปัญหาสำคัญที่อาจเกิดขึ้นได้ขณะไปฝึกงาน คือ การที่นักศึกษาฝึกงานบางคนถูกพี่เลี้ยง หรือเพื่อนร่วมงานบางคนเอารัดเอาเปรียบ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ หยุมหยิม เช่น ใช้ไปทำธุระส่วนตัวในเวลางาน ถูกใช้ให้ทำงานที่คนอื่นปฏิเสธ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ เช่น เรื่องเงิน หรือค่าตอบแทนจากการทำงาน 



Tips :มองเรื่องนี้ด้วยความเข้าใจว่าเป็นแบบทดสอบความอดทน บางครั้งการยอมอดทนกับการเอารัดเอาเปรียบของผู้อื่น หลีกเลี่ยงการปะทะ หรือวิวาทะ และให้อภัย กับคนที่ทำไม่ดีกับคุณ ไม่ได้หมายความว่าคุณอ่อนแอ แท้ที่จริงคุณคือผู้ชนะที่สามารถพิชิตอุปสรรค ที่เข้ามาท้าทายคุณในเรื่องของความอดทนอดกลั้นต่อความลำบาก ถือเป็นขันติบารมีอย่างหนึ่ง



ซึ่งเป็นแบบฝึกหัดข้อใหญ่ที่ไม่มีอยู่ในตำราเรียนเล่มไหนๆ อย่างไรก็ตามในบางกรณี มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณต้องปกป้องสิทธิของตัวเอง ในกรณีที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของตัวคุณ หรือเป็นการละเมิดศีลธรรม กฎหมาย จารีตประเพณี คุณต้องรายงานให้หัวหน้างานของคุณพร้อมๆกับรายงานไปยังสถาบันการศึกษาต้นสังกัดให้รับทราบทันที เพื่อจะได้หาทางป้องกันแก้ไขได้อย่างทันท่วงที



 5. เข้ากับหัวหน้างานไม่ได้ Tips :การฝึกงานไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตการศึกษา แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิตในโลกของการทำงานจริง เป็นเรื่องจริงที่ว่า แต่ละคนก็จะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน ตามการเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมสภาพสังคม ฉะนั้น เป็นไปได้ ที่เราอาจไม่เป็นที่ถูกใจ ผู้ที่เป็นหัวหน้างานในขณะที่ไปฝึกงาน โดยที่ไม่มีเหตุผลใดๆประกอบทางออกที่ดีก็คือ ให้เบี่ยงเบนความสนใจของคุณออกไปจากเรื่องเหล่านี้ อย่างที่ทราบกันดีว่า



ปัญหาเรื่องคนแก้ยากกว่าเรื่องงาน แต่ที่สุดแล้วการปรับแก้ที่ตัวเราเองเป็นเรื่องง่ายกว่ามากคุณควรมุ่งเน้นที่ตัวงานเป็นหลัก ช่วยเหลือสนับสนุนงานของหัวหน้าให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เน้นที่คุณภาพของตัวงาน ที่เหมาะสมกับปริมาณงานด้วย สุดท้ายแล้วหัวหน้างานย่อมมองออกว่า คุณนั่นแหละ คือ คนที่ทำงานจริง ทำงานได้ มีผลงานเป็นรูปธรรม จำไว้ว่า “ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน”




 6. รู้สึกโดดเดี่ยว ขาดกำลังใจในการทำงาน Tips :อย่าลืมว่าการที่เราเข้าไปเป็นน้องใหม่ในที่ทำงานในฐานะนักศึกษาฝึกงาน คุณต้องเป็นฝ่ายที่เข้าหาผู้อื่น เพื่อแนะนำตัวคุณเองให้เป็นที่รู้จักและขอคำแนะนำจากพวกเขา เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งคุณจะเริ่มมีความสนิทสนม เป็นส่วนหนึ่งของทีม ทำให้ทำงานได้อย่างราบรื่นประสบความสำเร็จ



สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้เต็มที่มากขึ้น ในขณะที่ฝึกงานเพื่อนร่วมงาน เปรียบเสมือนครูอาจารย์ของเราฉะนั้นการปฏิบัติตนกับผู้ร่วมงานต้องมีสัมมาคารวะหลีกเลี่ยงการเข้ากลุ่มนินทาว่าร้าย การทะเลาะวิวาท แล้วคุณจะได้รับคำแนะนำดีๆ และกำลังใจมากมายจากพี่ๆ เพื่อนร่วมงานอย่าลืมว่า ทุกๆพฤติกรรมของคุณอาจถูกรายงานกลับไปยังสถานศึกษาต้นสังกัด หรืออาจมีผลต่อการประเมินการฝึกงานของคุณ




คุณจึงควรระมัดระวังเรื่องการวางตัวอย่างมาก ทุกคนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองถ้าเราเข้าใจในตัวเขาและพยายามเข้ากับเขาให้ได้ก็จะไม่เกิดปัญหาการวางตัวต่อผู้ใหญ่เรียนรู้ว่าเวลาทำงานไม่ควรรบกวนผู้อื่น รู้จักเวลาและสถานที่ว่าตอนไหนควรทำอะไร 



จะเห็นได้ว่า ตัวอย่างปัญหาที่ระบุไว้ในบทความนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงของการฝึกงานเท่านั้น ถ้าหากคุณเข้ามาทำงานเป็นพนักงานจริงๆปัญหาเหล่านี้คุณต้องเจอแน่นอนซึ่งถ้าคุณปรับตัวได้ตั้งแต่เป็นนักศึกษาฝึกงาน ย่อมถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี และเปรียบเหมือนการปูพื้นฐานที่ดีสู่โลกการทำงานที่สดใสต่อไป

From Link: http://jobmarket.co.th/mustKnow/content_detail.php?dd=1445

 Copyright@ Jobmarket






No comments: